บ้านตัวอย่าง

เรือนพินรัตน์ สถาปัตยกรรมแห่งความรักและความทรงจำที่หลอมรวมจากเรือนไม้เก่าของครอบครัว

ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นที่แวดล้อมไปด้วยวิวไร่สวนและต้นไม้น้อยใหญ่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งแห่งเมืองพัทลุงที่เปี่ยมไปด้วยธรรมชาติอันงดงาม ซึ่งเป็นที่ตั้งหลักของบ้านไม้สองชั้นขนาดพอเหมาะที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในสไตล์พื้นถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ โดยการออกแบบที่หลอมรวมเข้ากับความรัก ความผูกพัน และความทรงจำของคนในครอบครัว จึงนำมาสู่การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เปรียบเป็นตัวแทนแห่งความรัก ความเคารพ และการระลึกถึง “คุณตาและคุณยาย” บุคคลผู้เป็นที่รักยิ่งของครอบครัวที่ล่วงลับจากไป ภายใต้ชื่อเรียกขานที่เปี่ยมไปด้วยความทรงจำว่า “เรือนพินรัตน์” ซึ่งเกิดจากการนำชื่อของ คุณตาวิรัตน์ และ คุณยายพิน ศิริธร มาผสมผสานเข้าไว้ด้วยกันจนกลายเป็นชื่อของบ้านไม้หลังนี้ ด้วยฝีมือการออกแบบจากทีมสถาปนิก ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ โดยมี น้าเชน บุญฤทธิ์ สมุหเสนีโต ช่างไม้ผู้เชี่ยวชาญและมีฝีมือในการสร้างเรือนพื้นถิ่น ซึ่งเคยสร้างบ้านหลังเก่าให้กับครอบครัวมาเป็นผู้รังสรรค์บ้านไม้แห่งความทรงจำหลังนี้ 

เพราะบ้านคือสถานที่แห่งความสุขที่ทุกคนในครอบครัวสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันภายในบ้านได้อย่างอบอุ่นและปลอดภัย แต่คำว่าบ้านในแบบฉบับ “เรือนพินรัตน์” กลับแตกต่างออกไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากคุณพ่อและคุณแม่ของ คุณวิวัฒน์ รอดสุด ผู้ทำหน้าที่ดูแลและจัดการสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมา มีความคิดในการสร้างบ้านเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการระลึกถึงคุณตาและคุณยายผู้ล่วงลับ ด้วยการนำไม้เก่าที่เหลือจากการรื้อบ้านเดิมของคุณตาและคุณยายที่ถูกปล่อยทิ้งร้างและทรุดโทรมมาใช้ในการก่อสร้าง เพื่อสะท้อนถึงความรักและความทรงจำ ที่เชื่อมโยงเรื่องราวแห่งความผูกพันในอดีตจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกหลาน โดยสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นบนที่ดินติดกับบ้านหลังเดิมของคุณพ่อและคุณแม่ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนบ้านควนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

แม้โจทย์หลักในการออกแบบบ้านไม้หลังนี้จะเกิดขึ้นจากความรู้สึกที่อัดแน่นอยู่ในความทรงจำ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความรัก ความผูกพัน และการระลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รัก ผ่านการดีไซน์บ้านที่เกิดจากการนำเอาแบบบ้านสมัยเก่ารุ่นคุณตาและคุณยายมาใช้ในการออกแบบ เพื่อสะท้อนถึงเรือนพื้นถิ่นในอดีตของจังหวัดพัทลุงที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่ คุณวิวัฒน์ รอดสุด ผู้ทำหน้าจัดการสร้างบ้านแห่งความทรงจำหลังนี้ ก็ได้บอกกับทีมสถาปนิกผู้ออกแบบว่า “อยากสร้างให้ใกล้เคียงกับของเก่า ไม่เชิงให้เหมือนสมัยเก่าทุกอย่าง แต่อยากให้อิงกับรูปแบบสมัยปัจจุบัน” จึงเกิดเป็นแบบบ้านไม้ดีไซน์ร่วมสมัยที่ผสมผสานระหว่างความเก่าและความใหม่อย่างลงตัว 

แบบเรือนไม้พื้นถิ่นของพัทลุง ซึ่งเป็นแบบบ้านดั้งเดิมของคุณตาคุณยาย ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ “เรือนพินรัตน์” โดยผสมผสานเข้ากับดีไซน์ร่วมสมัยที่มีความสอดคล้องกับบริบทของสภาพแวดล้อมและรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เริ่มด้วยการออกแบบหลังคาบ้านให้เป็นทรงปั้นหยาและการปูหลังคากระเบื้องที่มีความเป็นเอกลักษณ์ตามลักษณะเรือนปักษ์ใต้ในท้องถิ่น โดยคุณวิวัฒน์และทีมสถาปนิกได้นำกระเบื้องดินเผาจากอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกระเบื้องหลังคาดินเผาเกาะยอที่เป็นวัสดุพื้นถิ่นดั้งเดิมมาใช้ในการก่อสร้างแทน เนื่องจากกระเบื้องเกาะยอมีแหล่งผลิตค่อนข้างน้อยและอาจไม่ทันใช้ในการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มรายละเอียดในแต่ละจุดของบ้านตามแบบบ้านในอดีตของภาคใต้ ซึ่งปรากฎอยู่ในรูปแบบบ้านของคุณตาและคุณยายด้วยเช่นกัน อาทิเช่น ลวดลายของระแนงคอสอง การเลือกใช้ประตูบานเฟี้ยม ประตูลูกฟัก วงกบกระจกทรงสูงบริเวณหน้าบ้าน รวมถึงการออกแบบราวกันตกของบ้าน ซึ่งเป็นรูปแบบที่สามารถสื่อถึงบุคคลอันเป็นที่รักและภาพบรรยากาศในอดีตที่ชวนจดจำได้ดี

ไม่เพียงรูปแบบบ้านที่สะท้อนเอกลักษณ์พื้นถิ่น แต่ทีมสถาปนิกยังมีการผสมผสานแนวคิดการใช้ชีวิตภายในบ้านให้ลงตัวกับสภาพแวดล้อมและยุคสมัยมากยิ่งขึ้น พร้อมการออกแบบแนวช่องเปิดต่าง ๆ ของบ้านที่ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อสวนภายนอกได้อย่างรื่นรมย์ ซึ่งสอดคล้องกับการออกแบบเรือนพักอาศัยในอดีตของภาคใต้ที่นิยมใช้ช่องคอสอง หรือการทำช่องระบายอากาศจากไม้สานที่มีความโปร่งเป็นตัวช่วยเรื่องการระบายอากาศภายในบ้านให้มีความโปร่งสบาย

พื้นที่ภายในบ้านมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งบันไดบ้านใหม่ให้ลงตัวกับการใช้งานมากยิ่งขึ้น พร้อมนำจุดเด่นของแบบบ้านสมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน อย่างการออกแบบโถงเพดานสูงที่สามารถเชื่อมต่อบรรยากาศระหว่างพื้นที่ชั้นล่างและชั้นบนให้มีความโปร่งโล่งถึงกันมาผสมผสานไว้ในการออกแบบบ้านไม้ร่วมสมัยหลังนี้ได้อย่างพอดิบพอดี โดยการเปิดโล่งพื้นที่ในบริเวณนี้ยังเป็นตำแหน่งสำคัญของบ้านที่ช่วยให้สามารถมองเห็นรูปของคุณตาและคุณยายที่ติดไว้บนผนังไม้ได้อย่างชัดเจนทั้งจากพื้นที่ชั้นบนและชั้นล่าง เพื่อให้รู้สึกระลึกถึงภาพแห่งความรักและความทรงจำได้ตั้งแต่ย่างก้าวสัมผัสเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้าน

บันไดบ้านมีการจัดวางตำแหน่งใหม่ให้ลงตัวกับบริบทของการอยู่อาศัยมากขึ้น โดยออกแบบเป็นรูปตัวแอลเพื่อเชื่อมต่อการใช้งานระหว่างพื้นที่ชั้นล่างและชั้นบน ซึ่งเป็นลักษณะของบันไดในความทรงจำจากบ้านคุณตาและคุณยายของ คุณวิวัฒน์ ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ พร้อมทั้งการออกแบบเสาบันไดและระแนงไม้ราวกันตกที่โดดเด่นด้วยดีไซน์แบบพื้นถิ่น รวมถึงการยกระดับทางขึ้นบันได ตลอดจนการใช้พื้นและผนังปูนฉาบดั้งเดิม ก็สามารถสะท้อนบรรยากาศแห่งความทรงจำในอดีตที่ชวนประทับใจไว้ในทุกอณู

บริเวณชั้นบนของบ้านได้รับการออกแบบให้มาพร้อมความเป็นส่วนตัวจากพื้นที่ชั้นล่าง ซึ่งสามารถพักผ่อนคลายได้อย่างลงตัวในทุกมุมบ้าน โดยมีการนำรูปแบบการนั่งพื้นอย่างไทยมาสอดประสานไว้ในบริเวณพื้นที่พักผ่อนของบ้านอย่างลงตัว ในส่วนโครงสร้างของเสา คาน และพื้น เลือกใช้ไม้หลุมพอที่เป็นไม้พื้นถิ่นของภาคใต้ในการก่อสร้างร่วมกับไม้จากบ้านหลังเก่าที่เป็นมรดกตกทอดจารุ่นสู่รุ่น ก่อนที่จะนำมาผสมผสานเข้ากับวัสดุสมัยใหม่อย่างกระจกใสในบริเวณช่องเปิดต่าง ๆ ของบ้าน ซึ่งพร้อมสะท้อนเอกลักษณ์ของเรือนไม้เก่าแบบพื้นถิ่นที่มีความร่วมสมัยไว้อย่างงดงาม

ภายในห้องนอนได้รับการออกแบบให้สามารถเปิดรับวิวสวนและบรรยากาศได้อย่างใกล้ชิดตามความต้องการของคุณวิวัฒน์ โดยทีมสถาปนิกเลือกออกแบบเพิ่มความพิเศษให้พื้นที่ภายในห้องด้วยการจัดวางแนวช่องเปิดไว้บริเวณมุมหัวเตียงของห้องนอนทั้งสองด้าน พร้อมเลือกใช้บานหน้าต่างกระจกใสที่ดูร่วมสมัยด้วยกรอบไม้ รวมถึงยังมีการทำระแนงคอสอง หรือการทำช่องระบายอากาศจากไม้สานที่มีความโปร่ง เป็นตัวช่วยเรื่องการระบายอากาศในห้องนอนให้มีความโปร่งโล่งตลอดวัน ในส่วนของพื้นที่ผ่อนคลายมีการออกแบบพื้นยกสูง เพื่อแบ่งสเปซการใช้สอยในมุมพักผ่อนให้มีความเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะจัดวางด้วยฟูกนอนแบบเรียบง่าย ซึ่งเข้ากับสไตล์การตกแต่งบ้านที่คงเอกลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่นไว้อย่างอบอุ่น และพร้อมเชื่อมต่อเข้าสู่พื้นที่ภายในห้องน้ำได้ทันทีด้วยห้องน้ำส่วนตัวในห้องนอน ซึ่งสามารถปิดกั้นความเป็นส่วนตัวไว้ด้วยประตูบานไม้ทรงสูง 

ด้วยแนวคิดในการออกแบบบ้านที่หล่อหลอมขึ้นจากความรัก ความผูกพัน และความทรงจำของคนในครอบครัว จึงเกิดเป็น “เรือนพินรัตน์” ซึ่งโดดเด่นด้วยดีไซน์ร่วมสมัยที่ผสมผสานไว้ด้วยเสน่ห์แห่งความเก่าของเรือนไทยพื้นถิ่นในภาคใต้ และความใหม่ของการออกแบบที่ทันสมัยในปัจจุบัน เพื่อเป็นตัวแทนแห่งความรักและความคิดถึงจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ถึงบุคคลอันเป็นที่รักผู้ล่วงลับจากไป จึงทำให้บ้านไม้ร่วมสมัยในจังหวัดพัทลุงหลังนี้กลายเป็นสถาปัตยกรรมแห่งความทรงจำที่พร้อมบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่ชวนจดจำให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

Back to top button